เทคนิคเรียนเก่งภาษาอังกฤษ


เทคนิคเรียนภาษอังกฤษให้ดี ไม่ได้ยากอย่างที่คิด  

 เทคนิคการเรียนตามหลักสูตรใหม่ในปี 2539 เน้นภาษาอังกฤษเพื่อนำไปใช้ในการสื่อสาร ซึ่งอาจารย์สาการียา นิแวร์ วิทยากรพิเศษ โรงเรียนบ้านบาเละฮีเล จังหวัดนราธิวาส อาสาบรรยายให้ฟัง อาจารย์บอกว่าคุณสมบัติของคนที่อยากจะเรียนภาษาอังกฤษ หรือภาษาอะไรก็ตามให้ได้ดี มีแค่ไม่กี่ข้อเองค่ะ ซึ่งหลัก ๆ ก็มีดังนี้

เริ่มที่ความกล้าเป็นอันดับแรกเลยค่ะ กล้าที่จะคิด กล้าที่จะพูด ลองผิดลองถูก โดยไม่ต้องอาย อย่าไปเกร็งว่า gramma จะถูกหรือเปล่า ใช้ tense นี้ได้ไหม เพราะในสถานการณ์จริง มันมีตัวช่วยอื่นๆ อยู่แล้ว ที่จะทำให้อีกฝ่ายสามารถเข้าใจได้ว่า อย่างน้อยเรากำลังพูดถึงเรื่องอะไร อย่างเช่น ถ้าจะบอกทิศทางอย่าง go straigth - ตรงไป turn left - เลี้ยวซ้าย turn right -เลี้ยวขวา เราก็สามารถทำไม้ทำมือประกอบได้ ขออย่างเดียวเท่านั้น เจอฝรั่งถามทางแล้วอย่าเพิ่งวิ่งหนี หรือไปหลบหลังเพื่อน แต่ให้ลองพยายามพูดดูก่อนเท่านั้นเอง

ความกล้า

สังเกตไหมว่า คนบางคนแม้ไม่ได้เรียนภาษาอย่างเป็นเรื่องเป็นราว แต่ก็สามารถสื่อสารได้ เพราะอยู่ในสถานการณ์บังคับที่ทำให้เขาต้องกล้าพูด เช่น พ่อค้าแม่ค้าหรือมัคคุเทศก์


 เลียนสำเนียงที่ถูกต้อง

ตามระบบความเชื่อเดิมๆ ของการศึกษาบ้านเรามักจะคิด (เอาเอง)ว่า คนที่จะพูดภาษาอังกฤษได้ดี ต้องเป็นคนที่เก่งไวยากรณ์ เราถึงเรียนแต่ gramma กันอย่างเป็นบ้าเป็นหลัง โดยที่สื่อสารไม่ได้ซักที เจอฝรั่งที่ไหน ก็ได้แต่เอ้อ...อ้า...

แต่ 'คิดซีเพิ่งได้ยินมากับหูจากครูสอนภาษาชาวต่างประเทศคนหนึ่งที่บอกว่า ปัญหาของเด็กไทย ไม่ได้อยู่ที่ gramma หรอก...เรื่องนี้น่ะ เราแม่นกว่าเด็กฝรั่งเสียอีก แต่ที่เขากับเราพูดกันไม่รู้เรื่อง เป็นเพราะสำเนียงต่างหาก

ทักษะเหล่านี้ต้องอาศัยความกระหายที่จะเรียนรู้ค่ะ ไปเจอภาษาอังกฤษที่ไหนก็อยากจะอ่าน อยากจะฟัง ความรู้ในห้องเรียนอย่างเดียวไม่พอหรอกค่ะ เวลาดูหนัง ฟังเพลงฝรั่ง อย่าเอามันส์อย่างเดียว เรียนรู้อะไรบางอย่างให้ได้ด้วย ฝึกฟัง สังเกตแล้ว

ก็เลียนแบบการออกเสียงจากเจ้าของภาษาไปด้วย (ข้อนี้คนที่ชอบฟังเพลงฝรั่งอาจจะได้เปรียบกว่าเพื่อนนะคะ หรือยิ่งถ้าชอบร้องด้วย ยิ่งดีใหญ่เลย)

.สาการียา แนะนำว่าในระดับชั้นประถม หลักเบื้องต้นง่ายๆ ก็คือฝึกแยกพยางค์(syllable)ให้ได้ก่อน เช่น คำว่า Bangkok ต้องรู้ก่อนว่ามีกี่พยางค์ แบง-ค็อก ก็ พยางค์ใช่ไหมคะ จากนั้นพยางค์แรก ใช้สระเสียงอะไร Bang หรือ แบงออกเสียงสระแอ ส่วนพยางค์ที่สอง cock ค็อค ก็เสียงสระออ เริ่มต้นที่การแยกพยางค์ จับเสียงสระ พยัญชนะให้ได้ เพื่อเป็นพื้นฐานไปประยุกต์ใช้กับคำอื่นๆ ต่อไป

สะสมคลังคำ

การรู้ศัพท์เยอะ ทำให้เราสามารถที่จะนำไปใช้ในประโยคได้กว้างขวางขึ้น แต่การท่องแบบเอาเป็นเอาตาย โดยไม่เคยได้ใช้จริงเลยน่ะ มันไม่สนุกแล้วก็ไม่สร้างความจำในระยะยาวด้วย แต่ถ้าเราตั้งต้นจากสถานการณ์ในชีวิตประจำวันว่า ในวันหนึ่งๆ เราจะต้องเจออะไร ต้องทำอะไรบ้าง

สมมติว่าต้องไปจ่ายตลาด (at the market) มันจะมีศัพท์อะไรที่เราต้องใช้ เช่น ผัก - vegetable, ผลไม้ - fruit, ซื้อ -buy, ขาย - sell, ราคา - price นึกศัพท์เหล่านี้ออกมาแล้วอาจจะทำเป็น mind mapping จัดหมวดหมู่ให้มัน หรือถ้าใครชอบวาดรูป ก็อาจจะวาดภาพ แล้วใช้วิธีแตกศัพท์จากสิ่งที่ประกอบอยู่ในรูปนั้น

พูดเฉยๆ ไม่เข้าใจ ลองทำดูเลยดีกว่าค่ะ

(วาดรูปประกอบเป็นมะนาว) lemon/lime - มะนาว, sour - เปรี้ยว, small - เล็ก

เห็นไหมคะ แค่ภาพๆ เดียว เราก็ได้เรียนรู้คำศัพท์ตั้งมากมาย

หรือก็อาจจะเพิ่มว่า juicy - ชุ่มฉ่ำ, round - กลม, smooth - ผิวเกลี้ยง ก็แล้วแต่ใครจะคิดอะไรได้


เดา 
ไม่มีใครรู้คำศัพท์ทุกคำในโลกหรอกค่ะ ถ้าไม่รู้ ลองใช้การเดาเอาจากบริบทบ้างก็ได้ ถ้าไม่ได้จริงๆ ถึงจะมาใช้ dictionaryเพื่อค้นหาความหมาย  เช่น  He is blind so he cannot see anything at all.

ถึงแม้เราจะแปลคำว่า blind ไม่ออก แต่ก็อาจจะเดาจากบริบทรอบๆ ได้ คือ he cannot see anything at all หมายความว่าเขาไม่สามารถมองเห็นอะไรได้เลย คนที่มองไม่เห็นอะไรเลย ก็น่าจะแปลว่า ตาบอด ใช่ไหมล่ะคะ 

วิธีนี้จะกลับกันจากการเรียนรู้ในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งเรามักจะพุ่งไปเปิดหาความหมายที่dictionary เป็นอันดับแรก ซึ่งถึงจะรู้เดี๋ยวนั้น แต่ถ้าไม่ได้ใช้นานๆ ก็ลืมค่ะ แต่ถ้าเป็นการค้นพบและเรียนรู้ศัพท์จากของจริง สถานการณ์จริงจะมีตัวช่วยหลายๆ อย่างทั้งบรรยากาศ สถานที่ อารมณ์ ที่ทำให้เราจำแม่นกว่า 

ฝึกสนทนาพื้นฐาน 
คำศัพท์เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของการสื่อสารเท่านั้น สิ่งสำคัญก็คือการต่อยอดไปในการสนทนา (conversation) ซึ่งจะมีเรื่องของการเน้นเสียง (stress) และใช้เสียงสูงต่ำ (intonation) เช่น Where are you going ? How are you today ?

แหะ...แหะ ไม่สามารถเขียนให้มีน้ำเสียงได้ค่ะ ดูตัวอย่างเอาจากหนังฝรั่งก็แล้วกัน ดูว่าตัวละครต่างๆ ในเรื่องเขาพูดกันอย่างไร ใช้น้ำเสียงแบบไหน แล้วลองเลียนแบบ หัดพูดกับตัวเองก็ได้ หรือถ้าได้หัดพูดกับคนอื่นๆ ก็ยิ่งดีใหญ่

และประโยคพื้นฐานอย่างเช่น Thank you - ขอบคุณ,  Sorry - ขอโทษ,  Excuse me - โทษทีนะคะ อะไรแบบเนี้ยก็เป็นสิ่งที่ใช้ประจำในวัฒนธรรมทางสังคม ก็จงฝึกใช้ในสถานการณ์ต่างๆ ให้เคยชิน (แต่ประโยคที่ 'คิดซี' ใช้บ่อยที่สุดคือ "Pardon me" ค่ะ แปลง่ายๆ ว่า "อะไรนะ (พูดอีกทีซิ)"  ใช้เรื่อยเลย เวลาฟังเขาพูดไม่ออกน่ะค่ะ)


แม่นไวยากรณ์ตอนเขียน...ก็พอ 
ข้อนี้น่ะ มาทีหลังสุดเลยค่ะ เพราะหลักไวยากรณ์จริงๆ จะไปใช้ในเรื่องของการเขียนเป็นหลัก แต่ถ้าแค่พูดกับฟังน่ะ อย่าไปกังวลกับมันมาก เพราะจะทำให้กลัวและสับสนเปล่าๆ ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น เวลาไปซื้อของที่ไหน ถามคำเดียวว่า How much? (เท่าไร) ก็ซื้อของได้แล้ว หรือถ้าเราเป็นคนขาย มีฝรั่งมาถามแบบนี้ แล้วเราตอบว่า Twenty baht (20 บาท) ก็โอ.เค. หรือถ้าพูดต่อได้อีกสักหน่อยว่า What colour do you like? (คุณชอบสีไหนคะ) "Which one?" (อันไหนคะ) ก็ยิ่งดีใหญ่เลยค่ะ

เห็นไหมคะว่า ภาษาอังกฤษง่ายนิดเดียว (เลียนเสียงคุณแอนดรูว์ บิ๊กส์) เพราะถ้าไม่กลัวผิดซะอย่าง ผิดแล้วแก้ เอาใหม่ได้ ไม่ตายซะหน่อย นึกเข้าข้างตัวเองนิดๆ ว่า ทีฝรั่งพูดไทยไม่ชัด เรายังไม่เห็นว่าอะไรเลย ออกจะนึกเอ็นดูด้วยซ้ำ ถ้าเราจะทำอะไรเซ่อซ่าไปบ้าง ก็คงน่าเอ็นดูเหมือนกันล่ะน่า...


หัวใจของการเรียนรู้ทุกอย่างก็เท่านี้ล่ะค่ะ 




โดย: 'คิดซี' (อมราพร แผ่นดินทอง)

จาก: นิตยสาร Life & Family